วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

การตอบสนองจากนานาชาติต่อการเป็นประธานอาเซียนของพม่ามีทั้งในทางบวกและลบ


ในแง่บวก ประเทศส่วนใหญ่เริ่มมีท่าทีที่อ่อนข้อลงกับพม่า โดยเฉพาะประเทศในตะวันตก--สหรัฐอเมริกาและยุโรป อย่างน้อย ประเทศเหล่านี้มองว่า พม่ามีความจริงใจในการพัฒนาประชาธิปไตยในระดับหนึ่ง ตัวอย่างของการแสดงความอ่อนข้อในเรื่องนโยบาย อาจได้แก่ การที่รัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรปได้พบปะกันเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพิ่อพิจารณายกเลิกมารตรการคว่ำบาตรบางมาตรการต่อพม่า ขณะเดียวกัน รัฐสภาของพม่าออกรายงานที่มีเนื้อความว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามาน่าจะยกเลิกมาตราการคว่ำบาตรในบางด้านเช่นกันหลังจากที่การเลือกตั้งซ่อมในพม่าเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 สิ้นสุดลง ในเอเชียนั้น ประเทศที่เริ่มปรับนโยบายพม่าที่เห็นชัดเจนคือญี่ปุ่น เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นได้ส่งตัวแทนเดินทางไปยังพม่าเพื่อเริ่มโครงการให้ความช่วยเหลือและลงทุนในภาคอุตสาหกรรมสำคัญของพม่า โดยญี่ปุ่นได้ย้ำกับผู้นำของพม่าว่าพร้อมที่จะทำงานร่วมกันเพื่อที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจพม่าเข้มแข็งและมีกฏเกณฑ์ที่แน่ชัดมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อนักลงทุนต่างชาติ


ในส่วนของแง่ลบนั้น ปัญหาการกักขังนักโทษการเมืองของพม่า (แม้ว่ารัฐบาลจะให้อิสรภาพแก่นักการเมืองมากพอควรในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา) รวมถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังมีอยู่ นำไปสู่การคงอยู่ของทัศนคติในทางลบของประเทศตะวันตกบางประเทศ นอกจากนั้น ปัญหาการค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ และปัญหาการค้ามนุษย์ ล้วนแต่เป็นปัจจัยตัดโอกาสความน่าเชื่อถือของพม่า และเป็นสาเหตุที่อธิบายว่า ทำไมมาตรากาคว่ำบาตรจึงไม่หมดไปเสียที ประเทศตะวันตกบางประเทศรู้สึกผิดหวังที่อาเซียนมอบตำแหน่งประธานให้กับพม่าเร็วเกินไป โดยแสดงความเห็นว่า อาเซียนน่าจะใช้โอกาสนี้เป็นเครื่องต่อรองพม่า โดยอาจตั้งเงื่อนไขว่า หากพม่ายินยอมปล่อยตัวนักการเมืองมากขึ้น ก็จะพิจารณาการมอบตำแหน่งประเทศในปี 2556 อีกครั้งหนึ่ง (ก่อนที่พม่าจะได้ขึ้นมาเป็นประธานในปี 2557)

ขณะเดียวกัน ปฏิกิริยาของชนกลุ่มน้อยในพม่าก็อยู่ในแง่ลบเช่นเดียวกัน โดยกลุ่ม Burma Partnership ซึ่งเป็นเครือข่ายของชนกลุ่มน้อย ได้ออกแถลงการณ์กล่าวไม่พอใจต่อการตัดสินใจของอาเซียน โดยแสดงความเห็นว่า พม่าจำเป็นต้องให้ภารกิจดังกล่าวนี้ให้ลุล่วงก่อนที่จะได้รับมอบภารกิจสำคัญของอาเซียน ได้แก่ การปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมด การประกาศหยุดยิงถาวรกับชนกลุ่มน้อยและการยุติการโจมตีชนกลุ่มน้อยด้วยกำลังอาวุธที่มีความโหดร้าย และการเปิดช่องทางการสื่อสารกับชนกลุ่มน้อยและเปิดโอกาสให้ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้เข้ามามีส่วนในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของพม่าด้วย

นโยบายของพม่าที่ผ่านมาไม่เคยประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ เพราะจริงๆ อาเซียนไม่เคยมีความเป็นเอกภาพในเรื่องพม่า และนโยบายส่วนใหญ่ก็เกิดจาการตอบสนอง (reaction) มากกว่าที่จะเป็นผู้กำหนดนโยบายพม่าด้วยตนเอง นำไปสู่ความไม่สามารถของอาเซียนในการสร้างอิทธิพลเหนือพม่า นโยบายการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ของอาเซียนต่อพม่า (constructive engagement) มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากต่างประเทศว่า ไม่มีน้ำยาหรือ ไร้ทิศทางและขาดความขลังแต่อาเซียนก็อดทนต่อคำวิจารณ์เหล่านั้นและยังรอวันที่อาเซียนจะแสดงให้โลกเห็นว่า นโยบายของตนคือคำตอบที่แท้จริงและการลงโทษพม่าโดยการคว่ำบาตรไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ในพม่าดีขึ้น และในที่สุด เวลานั้นก็มาถึงเมื่อพม่าเริ่มมีพัฒนาการทางการเมืองในทางบวกมากขึ้น การมอบภารกิจการเป็นประธานแก่พม่าเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณของอาเซียนให้ประชาคมรับรู้ว่า ที่ผ่านมา นโยบายของอาเซียนมีความถูกต้องเสมอแม้จะใช้เวลานานในการพิสูจน์ อาเซียนเป็นองค์กรที่ หวงพื้นที่กล่าวคือ ไม่ยอมให้ประชาคมโลกเข้ามาชี้ว่าต้องทำอะไร (แม้จะรู้ตัวดีว่าบางเรื่องที่ทำอยู่นั้นไร้ประโยชน์สิ้นดี) การเปิดประเทศของพม่าจึงเป็นโอกาสเหมาะของอาเซียนในอ้างถึงความสำเร็จในนโนยบายที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นการสร้างความชอบธรรมของอาเซียนไปในตัว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น