วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

ประวัติศาสตร์ของพม่า



ชนเชื้อชาติพม่า มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในประเทศธิเบต ได้อพยพลงมาทางใต้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศพม่าปัจจุบัน เมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๙ บริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดี แบ่งออกเป็นสามพวกคือ
พวกมอญ - เขมร  มาสร้างเมืองตะโก้ง ทางตอนใต้เป็น แม้ว มอญ ละว้า
พวกธิเบต  เป็นพวกเผ่าอาระกัน ชิน และคะฉิ่น มีจำนวนมากมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่มัณฑะเลย์ อังวะ และพุกาม
พวกไทย - จีน  อพยพมาอยู่เป็นพวกสุดท้าย ไปอยู่ทางตะวันตกเป็นพวกคะฉิ่น และไปทางตะวันออกเป็นพวกฉาน บางพวกไปตั้งถิ่นบานอยู่ตามลุ่มแม่น้ำชินล์วิน บางพวกก็ข้ามไปอยู่ในมณฑลอัสสัม เรียกว่า ไทยอาหม บางพวกเคลื่อนลงมาทางใต้เป็นไทย กลุ่มที่สำคัญคือ กะเหรี่ยง ไทยใหญ่
ประเทศพม่า ในห้วงเวลาดังกล่าวมีชนหลายเผ่าหลายเชื้อชาติ และอยู่เป็นอิสระต่อกัน จนถึงปี พ.ศ.๑๕๕๓ มีกษัตริย์พม่าองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าอโนรธามังช่อ สามารถรวบรวมชนเผ่าต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และได้ทรงก่อตั้งอาณาจักรพม่าขึ้น ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พระองค์ได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก พระเจ้าอโนรธามังช่อสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๑๕๙๕ หลังจากนั้นก็มีกษัตริย์ครองราชย์ต่อมาอีกหลายองค์
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๘๐๐ มีชาวมอญจากเมาะตะมะชื่อ มะกะโท ได้ไปรับราชการอยู่ที่กรุงสุโขทัย แล้วกลับมาตั้งตนเป็นใหญ่ที่เมืองเมาะตะมะ เป็นกษัตริย์มอญทรงพระนามว่า พระเจ้าฟ้ารั่ว เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๖ แต่อยู่ในอำนาจของกรุงสุโขทัย


ในเวลาต่อมาไทยและพม่า ก็ได้ผลัดเปลี่ยนกันปกครองเมืองมอญ จนถึงปี พ.ศ.๑๙๒๘ มีกษัตริย์มอญทรงพระนามว่า พระเจ้าราชาธิราช ได้ไปตั้งเมืองหลวงใหม่ชื่อเมืองหงสาวดี ทางฝ่ายพม่าก็มีเมืองหลวงใหม่ชื่อ เมืองรัตนบุระอังวะ พม่ากับมอญทำสงครามกันมาตลอด จนถึงปี พ.ศ.๑๙๖๕ ได้มีบุคคลสำคัญคนหนึ่งชื่อ มังคินโย หรือมหาศิริชัยสุระ ทำการปราบทั้งพม่าและมอญได้ แล้วตั้งราชวงศ์ขึ้นใหม่ที่เมืองตองอู ครองราชย์อยู่ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๒๘-๒๐๘๓ เมื่อพระเจ้ามหาศิริชัยสุระสิ้นพระชนม์ พระราชบุตรของพระองค์ทรงพระนามว่า ตะเบงชะเวตี้ ขึ้นครองราชย์ต่อมา และได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองหงสาวดี ได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง ถึงเมืองพะโค เมืองแปร เมืองเมาะตะมะ และเมืองตองอู เมื่อพระเจ้าตะเบงชะเวตี้สิ้นพระชนม์ พระเจ้าบุเรงนองได้ขึ้นครองราชย์ หัวเมืองต่าง ๆ ในอาณาจักรพม่าพยายามแยกตัวเป็นอิสระ แต่ในที่สุดก็ถูกปราบราบคาบ พระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๔ พระเจ้านันทบุเรง ขึ้นครองราชย์ต่อมา และได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองอังวะ   ในระยะนี้พวกมอญมีอำนาจมากขึ้น

การนำไปสู่เอกราชที่สมบูรณ์ของพม่า  มีอยู่ห้าระยะด้วยกันคือ
ระยะที่หนึ่ง (ตุลาคม ๒๔๘๘ - สิงหาคม ๒๔๘๙)  ภายใต้การปกครองของผู้ว่าราชการชาวอังกฤษเมื่ออังกฤษกลับมายึดพม่าได้จากญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘ แล้ว อังกฤษก็ปกครองพม่าแบบเป็นประเทศราช ทำให้พม่าไม่พอใจ เพราะต้องการเป็นเอกราชจึงจัดองค์การอาสาสมัครประชาชน (People's Volunteer Organization - PVO) ขึ้นตามหมู่บ้านเพื่อต่อต้านอังกฤษโดยการก่อความไม่สงบ นัดหยุดงาน  อังกฤษเห็นสถานการณ์ไม่ดี จึงเปลี่ยนนโยบายเป็นอลุ้มอล่วยลง และส่งผู้ว่าราชการใหม่มาแทนคนเก่า
ระยะที่สอง (กันยายน ๒๔๘๙ - ธันวาคม ๒๔๘๙)  ผู้ว่าการคนใหม่ใช้นโยบายประนีประนอม อูอองซานมีนโยบายกอบกู้เอกราชโดยสันติวิธี จึงขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งต้องการใช้กำลังบังคับให้อังกฤษมอบเอกราชให้ และได้ยื่นข้อเรียกร้องต่ออังกฤษ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๙ ให้อังกฤษมอบเอกราชแก่พม่า ภายใน ๓๑ มกราคม ๒๔๙๑
ระยะที่สาม (ธันวาคม ๒๔๘๙ - มกราคม ๒๔๙๐)  จากการเจรจาที่กรุงลอนดอน อังกฤษเห็นว่าไม่สามารถจะใช้กำลังปกครองพม่าต่อไปได้ จึงเชิญตัวแทนพม่า นำโดยอูอองซาน ไปเจรจาในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๙๐ ผลปรากฏว่าอังกฤษยอมให้พม่าปกครอง โดยคณะบริหารของพม่าเป็นการชั่วคราว และจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๙๐ อังกฤษมีเงื่อนไขว่า พม่าต้องประกาศใช้รัฐธรรมนูญก่อน และยังคงอยู่ในเครือจักรภพต่อไป ส่วนรัฐต่าง ๆ หากจะไม่รวมอยู่กับพม่า ก็จะให้เป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษต่อไป
อูอองซาน กลับพม่าแล้วได้เจรจากับผู้นำรัฐคะฉิน รัฐชิน และรัฐไทยใหญ่ เกี่ยวกับปัญหาการรวมอยู่ในสหภาพพม่า ซึ่งรัฐต่าง ๆ ก็ยินยอม แต่ในรัฐธรรมนูญ ต้องกำหนดว่า รัฐต่าง ๆ มีสิทธิที่จะแยกตัวเป็นอิสระได้ หลังจากรวมอยู่กับสหภาพพม่าแล้วสิบปี มีการลงนามในสัญญาร่วมกันเรียกว่า สนธิสัญญาปางหลวง เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๐ ส่วนกะเหรี่ยงไม่ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมด้วย เพราะต้องการเป็นอิสระโดยทันที
ระยะที่สี่  ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคสันนิบาตประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ได้เป็นรัฐบาลและมีมติเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสหภาพพม่า (The Union of Burma) ในขณะที่มีการประชุมสภาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีคนร้ายเข้าไปยิงอูอองซานเสียชีวิตในที่ประชุม พรรคจึงมีมติให้อูนุ รองประธานทำหน้าที่เป็นหัวหน้าต่อไป
ระยะที่ห้า  อูนุทำหน้าที่เป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญของพม่าจนสำเร็จ ได้รับการรับรองจากอังกฤษที่กรุงลอนดอนเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๔๙๐ และมีผลบังคับในวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๙๑ ทำให้พม่าเป็นเอกราชโดยสมบูรณ์ โดยมีอูนุเป็นนายกรัฐมนตรี
ในช่วงสิบปีแรก การปกครองในระบบรัฐสภาของอูนุได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี แต่เมื่อถึงปี พ.ศ.๒๕๐๑ พรรคเกิดแตกแยก และเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง อูนุจึงเชิญนายพลเนวิน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดทำหน้าที่ดูแลรัฐบาล ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๓ มีการเลือกตั้งทั่วไป ปรากฏว่าอูนุได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น แต่เมื่อเข้ามาบริหารประเทศก็ประสบความล้มเหลวอีก ดังนั้น นายพลเนวินจึงทำการปฏิวัติเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ แล้วปกครองประเทศแบบเผด็จการ นำประเทศเข้าสู่ระบบสังคมนิยมประชาธิปไตย (Democratic Socialist) และได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า (Socialist Republic of the Union of Burma) นายพลเนวินได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีและปกครองประเทศตั้งแต่นั้นมา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น